วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

เผยเริ่ม ‘ไกล่เกลี่ยออนไลน์’ ช่วยระงับข้อพิพาทคดีแพ่งตั้งแต่ ก.พ. 2563 มาแล้ว

05 พ.ค. 2020
1215

เลขาฯ ศาลยุติธรรม เผยโครงการไกล่เกลี่ยออนไลน์ ระงับข้อพิพาทคดีแพ่ง ธุรกิจสินเชื่อ กู้ยืม บัตรเครดิต โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล สอดคล้องสถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาด ช่วยลูกหนี้-เจ้าหนี้ หาทางออกร่วมกัน รวมทั้งไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. ก.พ.-มี.ค. 2563 ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 197 คดี 

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงโครงการ “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” ที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะนำมาใช้ในศาลทั่วประเทศ ว่า ปัญหาหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต กู้ยืม เช่าทรัพย์และเช่าซื้อ รวมถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังคงมีการฟ้องร้องเข้าสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงลูกหนี้ที่เกิดความเครียดจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่เจ้าหนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับการชำระหนี้เช่นกัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจบางประเภทต้องปิดกิจการชั่วคราว พนักงานหลายคนถูกเลิกจ้าง หรืออาจได้รับเงินเดือนน้อยลง ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทจากการผิดสัญญาต่างๆ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ข้อพิพาทสามารถยุติลงได้ด้วยความพึงพอใจและยังคงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองฝ่าย ศาลยุติธรรมจึงได้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ควบคู่กับการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการยุติข้อพิพาท 

สำหรับสถิติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีแพ่งของศาลทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ช่วงระหว่าง ต.ค. 2562 – มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลทั้งหมด 526,132 คดี ปริมาณคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย 175,396 คดี (คิดเป็นร้อยละ 33.34) โดยสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 139,955 คดี (คิดเป็นร้อยละ 79.79)ทั้งนี้ หากประชาชนทั่วไป หรือนิติบุคคลที่มีข้อพิพาทและไม่สามารถตกลงกันเองได้ สามารถขอให้ศาลเป็นคนกลางช่วยให้คู่พิพาทเจรจาหาทางออกที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้ ปกติหากคู่พิพาทที่ประสงค์จะนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ศาลจะกำหนดวันและเวลาที่คู่พิพาทสะดวกตรงกันเพื่อเข้าร่วมประชุมไกล่เกลี่ย แต่อย่างไรก็ดี หลายครั้งที่คู่พิพาทอาจอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ไม่สะดวกที่จะเดินทาง หรือแม้กระทั่งคู่พิพาทไม่อยากจะเจอหน้ากัน รวมทั้งวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการตัดสินใจของคู่พิพาทว่าจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่ 

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้นำนวัตกรรม “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” มาใช้ในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดในการใช้ห้องประชุม ลดการเผชิญหน้า และยังทำให้คู่พิพาทสมัครใจและเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากขึ้น โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดแผนและวางแนวทางการให้บริการแก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศไปแล้วตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 และปัจจุบันมีศาลที่เริ่มดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์แล้ว จำนวน 117 ศาล และจะเปิดให้บริการจนครบศาลชั้นต้นทั่วประเทศ โดยภายหลังจากที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศได้เริ่มใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า มีข้อพิพาทคดีผู้บริโภคและคดีแพ่งที่ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์แล้ว จำนวน 401 คดี สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 197 คดี (คิดเป็นร้อยละ 49.13) ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ รวมทั้งสิ้น 60,883,616.34 บาท อย่างไรก็ตาม สำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้คู่พิพาทนำคดีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยออนไลน์เพิ่มขึ้นและมีผลสำเร็จในการดำเนินการไกล่เกลี่ยร้อยละ 80 ของคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด

สำหรับคู่พิพาทที่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ สามารถดำเนินการได้ทั้งก่อนฟ้องคดีและระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น หรือศาลชั้นอุทธรณ์-ฎีกา โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือต่อศาลที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือยื่นคำร้องผ่านระบบอี-ไฟล์ลิ่ง (e-Filing) มาพร้อมกับคำฟ้อง หรือยื่นผ่านระบบ CIOS (กรณีคดีอยู่ระหว่างพิจารณา) เมื่อศาลพิจารณารับเป็นคดีไกล่เกลี่ยแล้ว ศาลจะสอบถามความประสงค์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมทั้งวันเวลาที่สะดวกเพื่อกำหนดนัดวันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป

โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์นั้น สามารถดำเนินการได้ผ่านทางระบบการประชุมทางจอภาพ (VDO/Web Conference), แอปพลิเคชัน Line, Chat Room, E-mail, VDO Call หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ตามที่คู่พิพาทสะดวก และหากคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็จะนัดวันเวลาที่คู่พิพาทสะดวกเพื่อมาทำบันทึกข้อตกลงที่ศาล

นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของคดีกู้ยืมของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในแต่ละปีจะมีปริมาณการยื่นฟ้องคดีเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมมีแผนจะจัด “โครงการร่วมใจไกล่เกลี่ยออนไลน์” ในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ กยศ. ที่ต้องการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง หรือผู้ที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ได้เจรจาหาแนวทางแก้ไขหนี้และผ่อนผันการชำระหนี้ รวมทั้งค์ส่งเสริมให้คู่ความในคดีต่างๆ นำคดีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ไม่ต้องรอให้เรื่องถึงขั้นตอนการดำเนินคดีทางศาล ซึ่งอาจจะใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยคู่ความที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความยุติธรรม โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนโดยที่คู่ความไม่ต้องเดินทางมาศาล