วันอังคาร, 17 กันยายน 2567

สธ.เฝ้าระวัง โรค COVID–19 กับภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก ยืนยันยังไม่พบในไทย

03 มิ.ย. 2020
1061

ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์  กุมารเวชศาสตร์ – โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานจากทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือพบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่เจ็บป่วยรุนแรงรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ด้วยลักษณะที่คล้ายกับกลุ่มอาการคาวาซากิ ร่วมกับมีภาวะช็อก คือมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ด้วยการอักเสบรุนแรงในหลายอวัยวะทั่วร่างกาย บางรายที่อาการรุนแรงทำให้เกิดการทำงานของร่างกายล้มเหลวหลายๆ ระบบ พร้อมกับมีภาวะช็อก สมมติฐานเบื้องต้นเชื่อว่ากลุ่มอาการนี้สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เนื่องจากพบหลักฐานของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบเชื้อโดยตรง หรือการตรวจพบการตอบสนองของร่างกาย หรือแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด 19 ในผู้ป่วยหลายราย และเรียกภาวะนี้ว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children and Adolescents  (MIS-C)

จากการทบทวนรายงานทางการแพทย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้มีความเข้าใจในภาวะนี้มากขึ้น โดยพบว่า แม้กลุ่มอาการนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกายที่พบในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็มีหลายประเด็นที่แตกต่างกันคือ กลุ่มอาการ MIS-C พบในเด็กโตอายุเกิน 5 ปีได้บ่อยกว่า มีอาการของระบบทางเดินอาหารได้บ่อยถึงร้อยละ 67-100 และบางครั้งเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการอื่นๆ หลายระบบตามมา มีความผิดปกติของการทำงานหัวใจที่ค่อนข้างรุนแรง และมีระดับของเอนไซม์บางตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน (Triponin, BNPs) ซึ่งไม่ค่อยได้พบในโรคคาวาซากิ และมีปริมาณเกร็ดเลือดที่ค่อนข้างต่ำซึ่งต่างจากโรคคาวาซากิที่มักมีภาวะเกล็ดเลือดสูง บางรายยังมีอาการของระบบประสาทหรือเยื่อหุ้มสมอง เช่น ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย คอแข็ง ในรายที่รุนแรงพบเนื้อสมองบวม แต่สิ่งที่น่ายินดีคือพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีอาการรุนแรง แต่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาลดการอักเสบกลุ่ม IVIG หรือ สเตียรอยด์ เกือบทั้งหมดสามารถหายและกลับบ้าน ได้มีเพียงผู้ป่วยจำนวนน้อยที่เสียชีวิต

 การรายงานเคสผู้ป่วยในแต่ละภูมิภาคมีความหลากหลาย จึงยากที่จะนำมาวิเคราะห์หาข้อสรุปว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อ COVID-19 มากน้อยเพียงใด องค์การอนามัยโลกจึงพัฒนาฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อช่วยให้สามารถบันทึกข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลเชิงระบาดวิทยา สามารถนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ โดยขอความร่วมมือแพทย์ทั่วโลก บันทึกข้อมูลในแพลตฟอร์ม ชื่อ WHO COVID-19 Clinical Data Platform เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบแนวโน้ม ความรุนแรง และภาระโรค

สำหรับในประเทศไทย กรมการแพทย์ ได้มอบหมายให้สถานพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการเข้าได้กับ MIS-C บันทึกข้อมูลและส่งต่อข้อมูลในกรณีมีเคสที่สงสัย จนถึงปัจจุบัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบความผิดปกติดังกล่าว นอกจากนั้น ยังพบว่าอุบัติการณ์ในการเกิดโรคคาวาซากิที่มาเข้ารับการรักษาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปรียบเทียบกับอัตราที่พบย้อนหลัง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ตั้งแต่ปี 60 จนถึงปี 63 พบว่าในช่วงปี 2563 จำนวนผู้ป่วยคาวาซากิลดลงประมาณกว่าครึ่ง และไม่พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของ MIS-C เหมือนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองพบมีเด็กอาการน่าสงสัยคือไข้สูงเกิน 3 วัน มีอาการทางเดินอาหาร หรือมีผื่นผิวหนัง ตาแดง สามารถปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี call center 1415 เพื่อรับคำแนะนำในการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป