วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

จังหวัดขอนแก่นจัดพิธีนมัสการและอัญเชิญพระพุทธพระลับออกมาให้ประชาชนได้กราบไหว้

วันที่ 9 เมายน 2564 เวลา 15.30น.ณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นจัดพิธีนมัสการและอัญเชิญพระพุทธพระลับออกมาให้ประชาชนได้กราบไหว้เพื่อเป็นศิริมงคล พร้อมจัดขบวนอัญเชิญหลวงพ่อพระลับ หรือ “พระศรีสัตนาคะนะหุต ”ศาลากลางจังหวัดขอแก่นไปยังวัดธาตุพระอารามหลวง นำขบวนโดย ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พ้รอมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต โดยแต่งกายย้อนยุคเข้าร่วมพิธีอัญเชิญ เพื่อเป็นการแสดงออก และรักษาขนบธรรมเนียมอันดี ให้อยู่คู่เมืองขอนแก่น ตลอดไป “เสน่ห์วิถีอีสาน ย้อนวันวาน สงกรานต์ขอนแก่น”และช่วงเย็นมีพิธีทางศาสนา เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมทำบุญเสริมความเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์  “สงกรานต์จังหวัดขอนแก่น มีความโดดเด่นของกิจกรรมที่หลากหลาย ผสมผสานเอกลักษณ์วัฒนธรรม ท้องถิ่นแบบผสมผสานในมิติทางศาสนา และสงกรานต์แบบดั้งเดิม รูปแบบกิจกรรมสงกรานต์ จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2564 เน้นแก่นแท้วัฒนธรรมประเพณี และเสน่ห์วัฒนธรรมท้องถิ่น ในมาตรการคุมเข้มของ สาธารณสุข ภายใต้โครงการ เสน่ห์วิถีอีสาน ย้อนวันวาน สงกรานต์ขอนแก่น “สงกรานต์ ริน รส พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม”

สำหรับประวัติของวัดธาตุพระอารามหลวง และ หลวงพ่อพระลับ มีดังนี้ วัดธาตุพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2372  โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพี้ยเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่น เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองขอนแก่น และได้สร้างพระธาตุขึ้นเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองขอนแก่น จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดธาตุ” โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2521 มีเนื้อที่ 12 ไร่ ภายในวัดมี “หลวงพ่อพระลับ” ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

“หลวงพ่อพระลับ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 11 นิ้ว และสูง 29 นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว เหลือบตาลงต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม ขนาดพระเกศาเล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่  รัศมีเป็นเปลวตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกสูงทรงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำหงาย และแนวลูกแก้วอกไก่งอนขึ้นทางด้านบน “หลวงพ่อพระลับ” จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว “สกุลช่างเวียงจันทน์” คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้ว  เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-24

มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 (พ.ศ.2077-2114) เป็นกษัตริย์ครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองหลวงพระบาง พ.ศ.2090 พระองค์ได้อพยพไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อ “เวียงจันทน์บุรีศรีสัตนาค” การอพยพครั้งนี้ได้นำพระแก้วมรกต พระบาง พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ไปด้วย ซึ่งพระพุทธรูปทั้งหมดสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน สมัยเชียงใหม่ และสมัยพระเจ้าโพธิสารมหาธรรมิกราชาธิราช จากการศึกษาพระพุทธลักษณะจึงสันนิษฐานว่า หลวงพ่อพระลับ สร้างขึ้นโดย “พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช” ประมาณปีพุทธศักราช 2068 ณ นครหลวงพระบาง