วันนี้ 24 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขออำนาจคณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยจะมีการกำหนดรายละเอียดเรื่องพื้นที่และแนวปฏิบัติหลังจากมติครม.ออกมาในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
สำหรับสาระสำคัญของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีทั้งหมด 19 มาตรา
มาตรา 4 ในพระราชกำหนดนี้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรือ อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ อาจทำให้ประเทศ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือ การสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
มาตรา 5 วรรคสอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด “แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ”
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกินสามเดือน
มาตรา 5 วรรคสาม เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือ เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือ สิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น
มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด
(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกระแสข่าวเตรียมการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะพิจารณา แต่ทราบว่าขณะนี้ได้เตรียมการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว แต่สิ่งสำคัญในการลดการแพร่ระบาดนั้น ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปิดด่านชายแดนนั้น ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดนแล้ว ยกเว้นเพียงจุดที่มีคนไทยต้องเดินทางกลับเข้ามา ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วย หากมีบุคคลต้องสงสัยทีมแพทย์ก็จะดูแลดำเนินการตามขั้นตอนในการคัดกรอง และกักตัวเช่นกัน
“ขอแนะนำประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาว่า จะต้องปฏิบัติตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพื่อไม่ทำให้เกิดเชื้อแพร่กระจาย เพราะหากร่วมมือและดูแลตัวเองก็จะควบคุมสถานการณ์ได้ ผมเชื่อว่า ความร่วมมือถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะลดการแพร่ระบาดของโรคได้ สถานการณ์ก็จะสงบได้เช่นกัน แม้หากจะมีกฎหมายออกมา แต่ความร่วมมือของประชาชน ถือว่าสำคัญที่สุด หากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ก็จะเกิดประโยชน์ และแก้ปัญหาลดการแพร่ระบาดของโรคได้” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว