เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 63 เวลา 13.30 น. ณ โถงบัญชาการ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงข้อเรียกร้องการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ว่า ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยใช้ข้อมูลด้านสาธารณสุข รวมทั้งมีมาตรการรองรับที่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งนี้ จะไม่ผ่อนปรนมาตรการเพราะแรงกดดันแต่ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการต้องเสนอมาตรการรองรับ เช่น การจัดสถานที่ การคัดกรองโรค จำกัดจำนวนคน รวมทั้งมาตรการเว้นระยะห่าง หรือ Social Distancing หากมาตรการไม่เหมาะสมก็ยังให้เปิดบริการไม่ได้ แม้รัฐบาลจะทราบปัญหาของประชาชน แต่ก็เห็นความสำคัญด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะหากไม่รอบคอบหรือผ่อนปรนมาตรการเพราะแรงกดดันแล้ว อาจทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมารุนแรง เท่ากับการปฏิบัติมาทั้งหมดสูญเปล่านายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า (28 เม.ย. 63) ว่า จะมีการพิจาณาว่าจะมีการยืดระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. 63 นี้ หรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและข้อมูลจากด้านสาธารณสุขเป็นตัวชี้วัด ขณะนี้ ยังพบผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำนวนมาก ขณะที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ผู้ป่วยรักษาหายสามารถกลับบ้านได้ก็เพิ่มมากขึ้น หากประชาชนให้ความร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงอีก ซึ่งนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อดูแลประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ มาตรการที่มีอยู่ในขณะนี้ครอบคลุมหลายเรื่อง ทั้งการยืดระยะเวลาชำระหนี้ จึงไม่อยากมองเพียงแค่มาตรการแจกเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว ขณะนี้ กระทรวงต่าง ๆ ใช้งบประมาณดำเนินงานที่มีอยู่ทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกมาตรการเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนทั่วไป ต้องรอบคอบเพราะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณในอนาคตของหน่วยงาน ทั้งนี้ ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ให้การดูแลบุคลากรในองค์กรของตน ทั้งผู้ผลิต และ ผู้บริโภค ให้มีความเดือดร้อนน้อยที่สุด นอกเหนือภาคเอกชนทั้ง 20 รายที่ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงแล้ว ยังยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นอีกเช่นกัน