โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน สร้างจุดแข็ง
นำรายได้เข้าประเทศ
วันนี้ (8 เมษายน 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนต่อยอดการท่องเที่ยวไทย พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างจุดแข็ง และนำรายได้เข้าประเทศ ยินดีไทยมีสัดส่วนตลาด Medical Tourism กว่าร้อยละ 9 ของโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (838,000 ล้านบาท) ในปี 2570
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการรับรอง และราคา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) ยังได้เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถือเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 ที่นักเดินทางกำลังมองหา และ ททท. กำลังเดินหน้าต่อยอดรวมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ากับการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ อาทิ โปรแกรมอาสาสมัคร การสัมผัสประสบการณ์ด้านอาหาร ตลอดจนกิจกรรมทางวัฒนธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสัดส่วนมูลค่าตลาด Medical Tourism ของโลก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนมูลค่ามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35 โดยไทยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 9 ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ร้อยละ 6 และมาเลเซีย ร้อยละ 5 ตามลำดับ และจากการศึกษาคาดการณ์ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (838,000 ล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2570 เพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2562 ที่ 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานพยาบาลเกือบ 60 แห่งที่ได้รับการรับรองโดย Joint Commission International (JCI) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองสถานพยาบาล ที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย
“รัฐบาลชื่นชมการทำงานของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด มุ่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรอบด้านเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งวีซ่าท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Treatment Visa) ระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละ 90 วัน และวีซ่า Thailand Elite สำหรับการพำนักระยะยาวตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มุ่งสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค” นายอนุชาฯ กล่าว