ศิลปินชาวขอนแก่นสร้งชื่อทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ จัดแสดง/หน้าบัน – บรรพชน Ancestral Facade นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ 5 ณ ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 กรุงเทพฯระหว่าง 15 ก.พ. – 15 มี.ค. 63
โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 63 เวลา 18:00 น. ร่วมใน Galleries’ Night 2020 (โซนสุขุมวิท) เปิดถึงเที่ยงคืน
ถ้อยคำโดยศิลปิน ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ “บ้านดินเหล่านี้จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนและกระตุ้นจิตวิญญาณด้านความรัก ความผูกพันต่อเราเป็นอย่างมาก แรกเห็นก็เกิดความปิติ น้ำตาไหลริน ดั่งได้กลับไปอยู่ในถิ่นเก่าดั้งเดิมของตนเองอย่างไรอย่างนั้นเลย”

โดยงานศิลปะชุดนี้ถูกสร้างขึ้นจากความรู้สึกคิดถึงบ้าน อารมณ์หวนคำนึงจับใจถึงสัมพันธ์ที่อบอุ่นของครอบครัว กิจวัตรเรียบง่ายที่ปฏิบัติต่อกันเมื่อครั้งยังเยาว์วัย เมื่อการหวนคำนึงนี้ผุดขึ้นในหัวใจอย่างลึกซึ้งและไม่สามารถบรรเทาเบาบางลง มันจึงกลายเป็นแรงผลักดัน แรงกระตุ้นให้ศิลปินสร้างผลงานศิลปะชุดสำคัญที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง งานศิลปะที่จะเปรียบเสมือนจารึกหรือลายแทงให้เขาได้ใกล้ชิดกับบ้านอีกครั้ง รวมทั้งได้ก้าวข้ามกาลเวลาตามหารากเหง้าต้นกำเนิดของตนอย่างถ่องแท้

บ้าน คือ ที่มาสำคัญแห่งอัตลักษณ์ของสรรพชีวิตน้อยใหญ่ แต่อย่างไรบ้านไม่ได้หมายความจำกัดเพียงสถานที่เท่านั้น เรื่องราววิถีชีวิตที่ระคนทั้งสุขและทุกข์ในบ้านแห่งนั้นต่างหากคือความหมายที่แท้จริง และสำหรับศิลปินไทย ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ เขาคือหนึ่งในลูกหลานชาวจีนอพยพที่บรรพบุรุษเดินทางมาตั้งรกรากในภาคอีสานของประเทศไทย บ้านของเขาจึงมีความหมายถึงเกียรติยศของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เกียรติอุปโลกน์ของฐานะทางสังคมหรือความมั่งมี แต่คือเกียรติที่แท้จริงของมนุษย์ที่อดทนต่อสู้บากบั่นอย่างยากลำบากแสนสาหัสเพื่อให้ครอบครัวลูกหลานได้มีชีวิตที่สุขสบาย ก่อนการลงมือสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินเริ่มสืบค้นข้อมูลทั้งงานวิจัยจากเอกสารและลงพื้นที่ด้วยตนเอง หลังจากนั้นศิลปินได้พบว่าตนได้ต้องมนต์ขลังของประวัติศาสตร์ เขาตกหลุมรักบ้านโบราณอายุ 200 ปี ในเขตพื้นที่อำเภอ วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และ อำเภอเมือง จ.ยโสธร อาคารบ้านโบราณที่ชาวจีนในยุคอพยพได้สร้างไว้เพื่อทำการค้าขาย และปัจจุบันยังมีผู้คนอาศัยสืบทอดทำอาชีพค้าขายเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในอดีต ภาพสะท้อนชีวิตของบรรพชนในอดีตผ่านบ้านโบราณเหล่านั้น คือแรงบันดาลใจที่ศิลปินนำมาเป็นรูปสัญลักษณ์ในการสร้างผลงานชุดนี้

ย้อนไปในสมัยต้นยุครัตนโกสินทร์ ชาวจีนบางส่วนอพยพจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หนีภัยแห่งความแร้นแค้นอดอยากในประเทศจีนแผ่นดินแม่ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู้ชีวิตที่ประเทศไทย และหนึ่งในจุดสำคัญที่กองคาราวานชาวจีนเดินทางมาคือ ภาคอีสานของไทย การเข้ามาของชาวจีนในภาคอีสานที่ผ่านช่วงเวลาต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์ หลอมรวมองค์ความรู้และวัฒนธรรมทั้ง 2 ชาติเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนแน่นแฟ้น อาคารดินรูปแบบจีนผสมอีสาน อาคารรูปแบบจีนผสมตะวันตก ถูกสร้างขึ้นโดยองค์ความรู้ของชาวจีนอพยพ โดยสร้างด้วยโครงสร้างวางพาด เข้าลิ่ม เข้าเดือยอย่างปราณีต วัสดุประกอบด้วยไม้เนื้อแข็ง อิฐดินดิบ อิฐดินเผา กระเบื้องดินเผาและสังกะสี อาคารโบราณเหล่านี้เต็มไปด้วยร่องรอยทางกาลเวลา นัยยะสำคัญทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ศิลปินเลือกสร้างสุนทรียะทางจิตรกรรมจากภาพมุมมองหน้าบ้านที่มีลักษณะหน้าจั่วคล้ายหน้าบันของสถาปัตยกรรมโบราณ ระนาบประตูหน้าต่างเปิดกว้างคล้ายฉากละครชีวิต มุมสามัญเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนชาวจีนที่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายมาอย่างยาวนาน วางสินค้าระเกะระกะ แสงสว่างจากหน้าบ้านที่ต้องแสงเรืองรองและค่อยมืดลงเรื่อยๆในระยะที่ลึกเข้าไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ได้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีในเส้นทางศิลปะ ศิลปิน ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ ได้รับการยอมรับในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมรูปแบบเหมือนจริงที่มีแนวคิดสะท้อนสังคมผ่านรางวัลระดับชาติที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง งานแสดงเดี่ยวในประเทศอเมริกาสิงคโปร์และประเทศไทยที่ผ่านมาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในการแสดงงานศิลปะครั้งนี้ในช่วงอายุ 40 ช่วงวัยที่ชีวิตได้มองโลกอย่างผ่านร้อนผ่านหนาว เขาตั้งใจอยากสร้างผลงานศิลปะเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพชนซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกของตนเองในเบื้องลึกอย่างจริงใจที่สุดครั้งหนึ่ง

ศิลปินไทย ทรงวุฒิ ละวางวิธีการทำงานแบบเดิมที่คุ้นชิน จากฝีแปรงพู่กันนุ่มนวลและสีสันที่ตรงไปตรงมา เปลี่ยน – ปรับ วิธีการทำงานใหม่ทั้งหมดอย่างท้าทายตนเองเพื่อแสดง “ชีวิต – ตัวตน – ชาติกำเนิด” ของเขาให้ได้อย่างมีพลัง ศิลปินใช้เกรียงปาดเนื้อสีที่เสมือนแทนก้อนดินโบราณ พอก เพิ่ม ถม ทับสีเหล่านั้นทีละชั้น..ทีละชั้น บนพื้นผิวที่เต็มไปด้วยทีแปรงที่ปาดป้ายอย่างฉับพลัน คล้ายกับว่าศิลปินกำลังค่อยๆ กอบนำเรื่องราวที่เลือนหายไปกับกาลเวลาร่วม 200 ปี ให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้งอย่างสง่างามผ่าน “หน้าบัน – บรรพชน”
ที่มาข่าว-ภาพ/ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์











