วันอังคาร, 10 ธันวาคม 2567

บูรณาการ 33 หน่วยงาน กำหนดแนวทางจัดงานมหาสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ภายใต้แนวคิด “มหาสงกรานต์เย็นทั่วหล้าทั่วไทย สู่ความภูมิใจระดับโลก” ย้ำเผยแพร่คุณค่าสาระอัตลักษณ์

12 มี.ค. 2024
340

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยมี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมบูรณาการ ณ ศูนย์ประชุมชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
 
นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ว่า ในโอกาสที่ “ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา นั้น  ถือเป็นการกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เกิดความสนใจ เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศงานประเพณีในประเทศไทย ซึ่งเป็น Soft power (Festival) เป็นเทศกาลยอดนิยมเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้น  การประชุมบูรณาการในครั้งนี้ จึงเป็นการกำหนดแนวทางเพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ในภาพรวมของประเทศ ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมสงกรานต์เป็นไปอย่างเรียบร้อยและสร้างสรรค์ เน้นเผยแพร่คุณค่าสาระ ความงามของประเพณีให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วม อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีความสุขร่วมกันตลอดเทศกาล
 
รมว.วธ. เปิดเผยต่อว่า เพื่อให้กิจกรรมประเพณีสงกรานต์หมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นไปด้วยความงดงามและเหมาะสม รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงได้การประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงสาธารณสุข  กรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการการอาชีวศึกษา  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กองบังคับการตำรวจจราจร  กรมการขนส่งทางบก   กรมการศาสนา  กรมศิลปากร  สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมการท่องเที่ยว  กรมควบคุมโรค  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมประชาสัมพันธ์  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กรมการปกครอง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กรมอุตุนิยมวิทยา  กรมสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การประปานครหลวง  การประปาส่วนภูมิภาค  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดชลบุรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช  จังหวัดสมุทรปราการ สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร  มูลนิธิเมาไม่ขับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวม 33 หน่วยงาน       
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุป แนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยให้สอดคล้องกับแนวคิดกับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” ของรัฐบาล ประกอบด้วย 10 แนวทางสำคัญ ดังนี้
1. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการประกาศจาก UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
2. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์โดยเน้นเผยแพร่คุณค่าและสาระ ที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี คำนึงถึงความเหมาะสม บริบทของแต่ละท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเปิดกว้างทางความคิดและเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์
3. ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณี สงกรานต์ เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม
4. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และใช้ทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างประหยัด รู้คุณค่า
5. รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมประเพณี สงกรานต์ เช่น แต่งกายด้วยชุดสุภาพผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค เสื้อลายดอก หรือเสื้อผ้าที่เป็น Soft Power ของท้องถิ่น (เช่น กางเกงลายช้าง กางเกงลายแมวโคราช เป็นต้น) เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเพื่อสร้างการรับรู้ อัตลักษณ์ความเป็นไทยในประเพณีสงกรานต์ต่อชาวต่างชาติ
6. ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
7. รณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การเคารพและให้เกียรติผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ
8. ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทาง ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม
9. การดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำโรค ขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีสงกรานต์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
10. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระ ของประเพณีสงกรานต์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น
 
นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ทาง ยูเนสโกยังได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ UNESCO และตราสัญลักษณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ควบคู่กับตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน ในการจัดงานส่งเสริมและรักษาประเพณีสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2567 ทั้งนี้ หน่วยงานใดประสงค์จะใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ให้ส่งคำร้องขอใช้ตราสัญลักษณ์ UNESCO ไปยังกลุ่มมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ที่อีเมล saraban@culture.mail.go.th

นายเสริมศักดิ์ ยังได้กล่าวเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมสงกรานต์ ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดขึ้นในปีนี้ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค อาทิ -งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 เมษายน 67  -การจัดงานนิทรรศการ สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่าง 10–12 เมษายน 67 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC)  -การจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ระหว่าง 12- 15 เมษายน 2567 (พิธีเปิด 13 เม.ย.) ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร  -กิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม ในงานใต้ร่มพระบารมี 242 กรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย การแสดงแสงสีเสียงตำนานนางสงกรานต์ โดย แอนโทเนีย  โพซิ้ว นางสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2567 และ การแสดงบทเพลง “รำวงเริงสงกรานต์” ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเพลง “สงกรานต์” แต่งใหม่ ดนตรีโดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ เป็นต้น ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ทั้งนี้ ในส่วนภูมิภาคกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมมือกับจังหวัดและสนับสนุนเครือข่ายวัฒนธรรม ในการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานคุณค่าสาระประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดภูเก็ต ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถติดตามความเคลื่อนไหวรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ดาวโหลดเพลงสงกรานต์ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ได้ทางเว็บไซต์ www.culture.go.th แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสายด่วนวัฒนธรรม 1765

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 7003315842a3e5554.jpeg tz01.jpeg 2_07b2fa84021c11013.jpeg sm02.jpeg green-white-background06.jpeg cropped-kk0012-scaled-3.jpeg ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ radio20766.gif