วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

ระนองบ้านฉัน…เส้นทางการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประตูอาเซียน

“ระนองบ้านฉัน” นางสาวปรัศมนณัชส์ ขู้สกุล (เพรียว) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงจังหวัดระนองสถานที่ที่ซึ่งเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของครอบครัว จากการย้ายรกรากมาจากอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อมาอาศัยอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่กลับมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว เพราะมีความหลากหลายและการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างทรัพยากรป่าไม้ ทะเล น้ำตก และน้ำแร่จากธรรมชาติ จึงทำให้เมืองระนองเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้ง ระนองยังได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองฝนแปด แดดสี่” ซึ่งสะท้อนภาพแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกรายล้อมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณค่า ทำให้รู้สึกได้พักกายและพักใจได้อย่างสนิทใจในทุกครั้งที่ได้มีโอกาสกลับไปเยือน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นความพยายามของการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองระนองในโครงการต่างๆ มากมายที่ทำกันอย่างต่อเนื่องและแข็งขันในบริบทของพื้นที่และบริบทของระยะเวลาที่ผ่านการผลัดเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ก็ตาม ในฐานะที่ตนเองซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้มีโอกาสร่ำเรียนในด้านการท่องเที่ยวมานั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากระนองบ้านฉันได้รับการพัฒนาและการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้นั้น การท่องเที่ยวของจังหวัดระนองในอนาคตจะสดใสมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันจังหวัดระนองจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยหยิบจับจุดแข็งของตนเองจากการมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่รองรับด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์และแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งผลักดันให้ระนองเป็นจุดหมายปลายทางของ Spa and Wellness City และ Hot Springs of ASIA และยังมีแผนการพัฒนาของจังหวัดที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการที่เชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนควบคู่กันไปด้วย แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดระนองก็ยังดูเติบโตช้าเมื่อเทียบกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน อย่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ ในมุมมองของดิฉันเห็นว่าสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดระนองยังเติบโตช้านั้น น่าจะมีสาเหตุจาก 1) จังหวัดระนองยังมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่ไม่เอื้อต่อรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมากนัก เนื่องจากจังหวัดระนองยังถูกมองว่าเป็นเมืองรองและเป็นเส้นทางผ่านสู่จังหวัดท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง 2) จังหวัดระนองยังขาดการจัดการมาตรฐานและความพร้อมด้านสถานพยาบาล สถานบริการ และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเฉพาะทางด้านน้ำแร่ธรรมชาติ และ 3) ขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านการบริการทางการแพทย์ และการบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับพื้นที่ ที่พร้อมขยายเข้าสู่ระดับอาเซียนและระดับโลก รวมทั้ง สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาก็ยิ่งตอกย้ำให้ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองนั้นยิ่งเงียบสงัดไปกว่าเดิม

ดังนั้น ในฐานะคนที่ถูกเรียกว่าลูกเสี้ยวระนอง ซึ่งมิใช่ผู้ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดระนองซะทีเดียว แต่ได้มีโอกาสคลุกคลีและเดินทางไปเยี่ยมเยือนครอบครัวในจังหวัดระนองอยู่เป็นประจำนั้น ก็ยังอยากที่จะพัฒนาให้การท่องเที่ยวของจังหวัดระนองนี้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพและยังประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำแร่ ทั้งนี้ เพื่อให้จังหวัดระนองเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับอาเซียนได้ในอนาคต

ตอนนี้ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเองต่างก็เริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวกันแล้ว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและจากประเทศอื่นๆ เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ดิฉันจึงเชื่อว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่จังหวัดระนองจะปรับกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองเอง โดยนำเทคโนโลยีที่เข้ากับยุคสมัยมาใช้ร่วมกับการปรับช่องทางการตลาดที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น การตลาดรูปแบบออนไลน์ การลองนำระบบ AR มาปรับใช้กับการสื่อสารเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือการเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองให้ก้าวเข้าสู่ประตูของอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยการ Upskills Reskills และมองหาทักษะใหม่ๆ ที่จะ New Skills ให้แก่บุคลากรภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตตนเองจะผ่านกระบวนการหล่อหลอมสิ่งต่างๆ เหล่านี้จากการเรียนการสอนที่คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของ “ระนองบ้านฉัน” ให้พัฒนาได้อย่างภาคภูมิใจ

ระนองบ้านฉัน…เส้นทางการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประตูอาเซียน

ผู้เขียน: นางสาวปรัศมนณัชส์ ขู้สกุล

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 DasKLf.jpg 8JER4J.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ททท. เตรียมจัดงานเฟสติวัลครั้งยิ่งใหญ่ “ใส่ไทย เฟสติวัล” ร่วมผลักดันให้เป็น SOFT POWER ด้านแฟชั่นให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ส่งท้ายปีอีกครั้ง
ขอนแก่นกับงานยักษ์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2567 งานแถลงข่าว “Plara Morlam Isan to the World’24”
เปิดฉาก! สีฐานเฟสติวัล 2024 ลอยกระทงปีนี้ที่ มข.แบบ “วิถีแห่งอีสาน สีฐานมูเตลู”
“ใส่ไทย เฟสติวัล” SOFT POWER ด้านแฟชั่นยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี เริ่มขึ้นแล้ว
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม : “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ชวนย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 9 – 17 พ.ย. 2567
รีบๆเลยก่อนสิทธิ์หมด! ททท. จัดแคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง”