วันอังคาร, 21 มกราคม 2568

กระทรวงพลังงานดัน EV ปรับโครงสร้าง กฟผ.

29 มิ.ย. 2020
1074

กระทรวงพลังงานเตรียมขับเคลื่อนแพคเกจการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยใช้ กฟผ. เป็นแกนนำจัดตั้ง บริษัท Innovation Holding ที่ กฟผ. ร่วมกับ ราช กรุ๊ป และเอ็กโก กรุ๊ป โดยเตรียมจดทะเบียนตั้งบริษัทภายในปีนี้ ซึ่งจะผลักดันต่อเนื่องไปจนถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ พร้อมไปกับการปรับโครงสร้าง กฟผ. ให้รองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีใหม่โดยกลุ่ม New-Gen ร่วมทุนกับ Startup และทำ Energy Trading เพื่อสนับสนุน Charging Station พร้อมดึง ปตท. ร่วมขับเคลื่อน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการผลักดันการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ โดยจะส่งเสริมแบบครบวงจรให้เชื่อมโยงทั้งระบบ ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเป็นแกนนำสำคัญ จัดตั้งบริษัท Innovation Holding ที่ กฟผ. จะถือหุ้น 40% ร่วมกับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกที่จะถือหุ้นบริษัทละ 30% และเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งได้ในปีนี้ ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 300 ล้านบาท หลังจากที่มีการส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Station) และได้มีการอนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV เรียบร้อยแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปจะผลักดันไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งจะมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology ผลักดันการพัฒนา E-Transportation
ส่วนแนวคิดการนำปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบกว่า 30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด มาขายให้กับรถไฟฟ้าสาธารณะที่จะเกิดขึ้นหลายสายในอนาคต เพื่อให้มีค่าไฟฟ้าถูกลง กำลังหารือว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ กฟผ. สามารถขายไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสาธารณะได้ทางตรง เพราะนอกจากรถไฟฟ้าสาธารณะแล้ว ก็จะมีรถไฟรางคู่ที่จะเกิดขึ้นทั้งประเทศ จะทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอีก
ปัจจุบันได้เริ่มมีการใช้ไฟฟ้าสำรองในโครงการห้องเย็น เริ่มใน 4 ภาคของประเทศ เริ่มที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ที่ให้เกษตรกรสามารถมาใช้ห้องเย็นนี้เพื่อเก็บผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่กระทรวงพลังงานกำลังจะเชื่อมโยงเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้แผนการส่งเสริมรถยนต์ EV ทั้งระบบได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อพิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งในแผนจะมีการกำหนดเป้าหมายว่า EV จะมีอัตราเติบโตอย่างไร จะทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้เท่าไร จะสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้เท่าไร และเมื่อมีการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ EV แล้ว จะรักษา Supply Chain ที่อยู่ในอตุสาหกรรมรถยนต์ได้เท่าไร รวมถึงเป้าหมายการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยแผนนี้กระทรวงพลังงานได้เห็นชอบในการจัดตั้ง บริษัท Innovation Holding เพื่อไปร่วมทุนกับบริษัท Startup ด้านนวัตกรรม และจะมีการจัดตั้งบริษัท Energy Trading เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อมาสนับสนุนการจัดตั้ง Charging Station
ทั้งนี้ จะมีการดึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เข้าร่วมจัดตั้ง Charging Station และร่วมกับ VITEC ของ ปตท. เพื่อร่วมกันพัฒนารถยนต์ EV ทั้งระบบด้วย และจะมีการหารือกับกระทรวงคมนาคมซึ่งมีรถโดยสารขนาดใหญ่ ที่จะต้องใช้ Charging Station ในรูปแบบไหนอย่างไร
ในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีอายุการใช้งานไปแล้ว 5 ปี อาจจะมีการนำไปใช้ในสถานีไฟฟ้าย่อย (Sub Station) ของ กฟผ. เพื่อแก้ปัญหาแบตเตอรี่ที่จะเกิดขึ้นจำนวนมากจากรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
นายกุลิศ กล่าวว่า มีการเปรียบเทียบต้นทุนต่อหน่วยระหว่างรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล จะมีต้นทุน 2 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า จะมีต้นทุน 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งถูกกว่ากันมาก จะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ EV มากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ กฟผ.เข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาไปสู่ New Technology โดยการใช้กลุ่ม New-Gen ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของ กฟผ. มาช่วยกันคิดและพัฒนา ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้าง กฟผ.ไปพร้อม ๆ กับการจัดตั้งบริษัทย่อยที่จะมาดำเนินการในธุรกิจ EV ก็จะทำให้ โดยให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า เชื่อมต่อไปถึงการลงทุนในธุรกิจ EV