รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดประชุมวิชาการบรรพชีวินวิทยานานาชาติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา และเยี่ยมชมเปิดนิทรรศการอุทยานธรณี ซากดึกดำบรรพ์ และผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จังหวัดขอนแก่น
วันนี้ (7 พ.ย. 65) ที่ ห้องประชุมออร์คิด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด จังหวัดขอนแก่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิด การประชุมวิชาการบรรพชีวินวิทยานานาชาติ ครั้งที่ 6 และเยี่ยมชมเปิดนิทรรศการอุทยานธรณี ซากดึกดำบรรพ์ และผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมด้วย ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ศ.ดร.เหรียญบิน จาน เลขานุการสมาคมบรรพชีวินสากล โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รศ. ดร. ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้การต้อนรับ พร้อมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางทรัพยากรธรณี และซากดึกดำบรรพ์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 จังหวัดขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งการแพทย์ และการศึกษาในภูมิภาค ตั้งอยู่บนเส้นทางหลักที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้ง ขอนแก่นยังเป็นแหล่งรวบรวมอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมที่อบอุ่นและหลากหลายทั้งด้านภาษา อาหาร และดนตรี ผู้ที่มาเยือนจังหวัดขอนแก่น จะเห็นรูปปั้นหรือหุ่นจำลองไดโนเสาร์นานาชนิด ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และโครงกระดูกขนาดมหึมา ที่มาจากการค้นพบซากไดโนเสาร์ กินเนื้อพวกสไปโนซอริด และไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์พวกภูเวียงโกชอรัส จนนำไปสู่การก่อตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งเป็นศูนย์รวมการวิจัยและการศึกษาขนาดใหญ่ของชีวิตช่วงก่อนยุคประวัติศาสตร์ และการค้นพบเหล่านั้นยังนำไปสู่การจัดตั้ง
“อุทยานธรณีจังหวัดขอนแก่น” ซึ่งองค์การ UNESCO กำลังจะพิจารณาขึ้นทะเบียนให้เป็น “อุทยานธรณีระดับโลก” ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และทำวิจัยด้านไดโนเสาร์ที่สำคัญของประเทศไทย และหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง อุทยานธรณีระดับโลกแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกที่มีใดโนเสาร์เป็นจุดดึงดูด
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ไม่ใช่ประโยชน์เพียงแค่ประเทศไทยเพราะว่ามีนักวิทยาศาสตร์ด้านบรรพชีวินมาจากทั่วโลก การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยก่อนนับล้านปีมีการเรียกว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละช่วงเวลาแต่ละช่วงนั้นตั้งแต่จูลาซิค ไล่มาจนถึงวันนี้จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าอนาคตของโลกของเราจะไปในทิศทางใด เพราะว่าอุบัติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมันกำลังย้อนรอยเกิดขึ้นในขณะนี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีถ้าหากว่าไม่เร่งแก้ไขอนาคตของโลกของเราก็จะสูญพันธุ์มนุษย์ของเราสิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์ไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น
จากนั้น นายวราวุธ ศิลปะอาชา พร้อมคณะได้เยี่ยมชมเปิดนิทรรศการอุทยานธรณี ซากดึกดำบรรพ์และผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งในจุดที่แสดงนิทรรศการนั้น มีการนำซากดึกดำบรรพ์ และไม้กลายเป็นหิน ซากปลากลายเป็นหินมาจัดแสดงให้ชม นอกจากนี้ยังมีการจัดทำอาหารโบราณ ซึ่งเป็นยำข้าวเกรียบ และเมี่ยงข้าวเกรียบกรอบให้รัฐมนตรี และผู้เข้าร่วมงานได้ชิมกันด้วย.