นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังร่วมเป็นประธานเปิดขบวนรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาวเที่ยวปฐมฤกษ์กับ นายไซสงคราม มะโนทัม รอง รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ว่า วันนี้เป็นวันอาสฬหบูชา ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ของ สปป.ลาว จึงเป็นฤกษ์ดีในการเปิดเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ สปป.ลาวมีทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสถานีหนองคายฝั่งไทยกับสถานีท่านาแล้งฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยมีขบวนรถโดยสารวิ่งระหว่างหนองคาย-ท่านาแล้งวันละ 4 ขบวน ต่อมาฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาวในการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางกว้าง 1 เมตร ระยะที่ 2 ช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กิโลเมตรแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2566 และได้มีการประชุมระหว่างไทย-ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดเส้นทางเดินรถไฟ พร้อมกับฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟให้กับการรถไฟลาว และเมื่อวันที่ 14-20 พ.ค.67 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (Lao National Railway State Enterprise: LNRE) ได้เริ่มทดลองเดินรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปยังสถานีคำสะหวาด เพื่อทดสอบระบบและตรวจสอบด้านเทคนิค พร้อมทั้งได้ทดสอบการเดินรถแสมือนจริงเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงได้เปิดให้บริการเดินรถเป็นทางการในวันนี้
สถานีคำสะหวาดตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ ห่างจากสถานีท่านาแล้งประมาณ 7.5 กิโลเมตร และห่างจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นสถานี 2 ชั้น พร้อมชานชาลา 2 แห่ง โดยชั้นแรกมีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร และชั้นที่สองมีพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์) วงเงิน 994 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างระบบรางรถไฟหลักระยะทาง 7.50 กม. งานระบบอาณัติสัญญาณ งานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ และงานจุดตัดทางรถไฟ โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้เป็นประธานในพิธีเปิดใช้สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค.66
รมช.คมนาคม กล่าวว่า การเปิดเดินรถในครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับ LNRE โดยใช้พนักงานขับรถของ LNRE เป็นผู้ควบคุมขบวนรถจากสถานีท่านาแล้ง (สถานีระหว่างประเทศ) ไปยังสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีพนักงาน รฟท.เป็นพี่เลี้ยงไปกับรถจักรดีเซลไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ รฟท.ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการขับรถจักรให้แก่พนักงานขับรถของ LNRE เพื่อให้สามารถควบคุมขบวนรถได้อย่างปลอดภัย โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ของไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม
การเปิดเดินรถไฟเส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์จะทำให้การเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศด้วยระบบรางมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีขบวนรถไฟให้บริการวันละ 4 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) , ขบวนรถเร็วที่ 148 เส้นทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี, ขบวนรถเร็วที่ 147 อุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-กรุงเทพอภิวัฒน์
โดยผู้โดยสารที่จะมา สปป.ลาวสามารถเดินทางมากับขบวนรถเร็วที่ 133 ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เวลา 20.25 น.ถึงสถานีหนองคายเวลา 07.55 น. ระยะทางประมาณ 621 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง 30นาที จากนั้นลงจากขบวนรถพร้อมกระเป๋าเดินทางและหนังสือเดินทาง (passsport) ที่มีอายุเหลืออย่างน้อย 6 เดือน หรือทำบัตรผ่านแดน เพื่อเดินไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย ซึ่งมีให้บริการ 3 ตู้ ตู้ละ 2 ช่อง และเดินผ่านด่านศุลกากร ขณะที่ขบวนรถไฟจะตัดขบวน 4 ตู้หน้าเลื่อนไปรอด้านทิศเหนือของสถานีหนองคาย เมื่อผู้โดยสารผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแล้ว สามารถเดินขึ้นขบวนรถไฟได้เลย โดยใช้เวลาช่วงนี้ประมาณ 40 นาที ก่อนที่ขบวนรถไฟจะออกจากสถานีหนองคายเวลา 08.35 น. ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ผ่านสถานีท่านาแล้งไปยังสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยขบวนรถไฟจะมาถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเวลา 09.05 น. เมื่อเดินทางมาถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้ว ผู้โดยสารลงจากขบวนรถไฟจะถูกทางบังคับให้เดินเข้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตู้ (ตู้ละ 2 ช่อง) ประกอบด้วย
ตู้ที่ 1 (ซ้ายสุด) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการ
ตู้ที่ 2 (ตรงกลาง) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทั่วไป และบัตรผ่านแดน
ตู้ที่ 3 สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศอาเซียน (ASEAN Passport)
ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ได้รับฟรีวีซ่าจาก สปป.ลาว จะมีจุดทำ Visa on Arrival (VOA) อยู่ด้านขวามือสุดของตู้สำหรับผู้หนังสือเดินทางประเทศอาเซียน และเมื่อออกจากอาคารสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วจะพบเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วรถโดยสารด้านขวามือ มีรถโดยสารที่เข้าตัวเมืองเวียงจันทน์ จะมีออกแค่ 4 รอบ ช่วงเช้า 09.30 น. กับ 09.40 น. (รับผู้โดยสาร ขบวน133 กับส่งผู้โดยสารขบวน 148) และช่วงเย็น 18.30 น. กับ 18.45 น. (รับผู้โดยสารขบวน 147 กับส่งผู้โดยสาร 134) ค่าโดยสารผู้ใหญ่ราคา 20,000 กีบ และเด็กราคา 10,000 กีบ นอกจากนี้ยังมีรถแท็กซี่และรถตู้ที่เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์ และเมืองใกล้เคียง รวมถึงสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ (ลาว-จีน) ที่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ประมาณ 16 กิโลเมตร นอกจากนี้ที่สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ยังมีช่องสำหรับจองตั๋วรถไฟลาว-จีน (LCR) ซึ่งมีเคาน์เตอร์ขายโดยเฉพาะด้วยด้านซ้ายมือสุดของช่องจำหน่ายตั๋วรถไฟไทย-ลาว สามารถที่จะซื้อตั๋วรถไฟได้เช่นกัน
ขณะที่ขบวนรถเร็วที่ 133 เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-กรุงเทพภิวัฒน์ ค่าตั๋วรถไฟนั่งชั้นสามพัดลมราคา 281 บาท (152 ที่นั่ง) , รถนั่งชั้นสองปรับอากาศราคา 574 บาท (64 ที่นั่ง) , รถนั่งและนอนชั้นสองปรับอากาศ (30 ที่นั่ง) เตียงบนราคา 784 บาท และเตียงล่างราคา 874 บาท ส่วนขบวนรถเร็วที่ 148 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-หนองคาย-อุดรธานี และขบวนรถเร็วที่ 147 อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) คิดอัตราพิเศษ แบ่งเป็นระยะ ดังนี้
ช่วงอุดรธานี-เวียงจันทน์ : รถพัดลม 100 บาท/รถแอร์ 200 บาท
ช่วงอุดรธานี-หนองคาย : รถพัดลม 30 บาท/รถแอร์ 80 บาท
ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ : รถพัดลม 70 บาท/รถแอร์ 120 บาท
“การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนารถไฟที่มีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย และปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งระหว่างกัน รวมถึงกระตุ้นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” นายสุรพงษ์ กล่าว
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ